ครูมีความสำคัญอย่างไรในสังคมไทย

วันศุกร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ประวัติและความเป็นมา (History of the Hmong people)


            ยังไม่มีผู้ใดสามารถสรุปได้ว่าชนชาติม้งมาจากที่ไหน แต่สันนิษฐานกันว่าม้งคงจะอพยพมาจากที่ราบสูงธิเบต ไซบีเรีย และมองโกเลีย เข้าสู่ประเทศจีน และตั้งหลักแหล่งอยู่แถบลุ่มแม่น้ำเหลือง (แม่น้ำฮวงโห) เมื่อราว 3,000 ปีมาแล้ว ซึ่งชาวเขาเผ่าม้งจะตั้งถิ่นฐานอยู่ในมณฑลไกวเจา ฮุนหนำ กวางสี และมณฑลยูนาน ม้งอาศัยอยู่ในประเทศจีนมาหลายศตรรษ จนกระทั่ง ประมาณคริสตศตวรรษที่ 17 ราชวงค์แมนจู (เหม็ง) มีอำนาจในประเทศจีน กษัตริย์จีนในราชวงค์เหม็งได้เปลี่ยนนโยบายเป็นการปราบปราม เพราะเห็นว่าม้งที่เป็นผู้ชายส่วนใหญ่แล้วรูปร่างหน้าตาคล้ายกับคนรัสเซีย ทำให้คนจีนคิดว่า ม้งเป็นคนรัสเซีย จึงเป็นเหตุให้มีการปราบปรามม้งเกิดขึ้น โดยให้ชาวม้งยอมจำนน และยอมรับวัฒนธรรมของจีน และอีกประการหนึ่งคือเห็นว่า ม้งเป็นพวกอนารยชนแห่งขุนเขา (คนป่าเถื่อน) จึงได้มีการต่อสู้กันอย่างรุนแรงในหลายแห่ง เช่น ในเมืองพังหยุนในปี พ.ศ.2009 และการต่อสู้ในมณฑลไกวเจาในระหว่าง พ.ศ. 2276 - 2278 และการต่อสู้ในมณฑลเสฉวนในระหว่าง พ.ศ. 2306 – 2318


              ในที่สุด ชาวม้งประสบกับความพ่ายแพ้ สูญเสียพลรบ และประชากรเป็นจำนวนมาก ในที่สุดม้งก็เริ่มอพยพถอยร่นสู่ ทางใต้ และกระจายเป็นกลุ่มย่อย ๆ กลับขึ้นอยู่บนที่สูงป่าเขาในแคว้นสิบสองจุไทย สิบสองปันนา และอีกกลุ่มได้อพยพไปตามทิศตะวันออกเฉียงเหนือของราชอาณาจักรลาวบริเวณทุ่งไหหินเดียนเบียนฟู โดยมีหัวหน้าม้งคนหนึ่ง คือ นายพลวังปอ ได้ราบรวมม้ง และอพยพเข้าสู่ประเทศไทยเมื่อประมาณ พ.ศ. 2400 เศษ เป็นต้นมา


               ปัจจุบันชาวม้งส่วนใหญ่ในประเทศไทย ตั้งถิ่นฐานอยู่ตามภูเขาสูง หรือที่ราบเชิงเขาในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน แพร่ ลำปาง กำแพงเพชร เลย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย และตาก มีจำนวนประชากรทั้งสิ้นประมาณ 151,080 คน


               ในอดีตนั้นม้งอาศัยอยู่ตามภูเขาอยู่ตามธรรมชาติ ม้งต้องตรากตรำทำงานหนักอยู่แต่ในไร่เท่านั้น ทำให้ม้งไม่มีเวลาที่จะดูแลตัวเองและครอบครัว ดังนั้นชีวิตความเป็นอยู่ของม้งจึงเป็นแบบเรียบง่าย เพราะคลุกคลีกับธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่เท่านั้น ชีวิตประจำวันของม้งคือ จะทำไร่ ทำสวน และหารายได้เล็กน้อยเพื่อจุนเจือครอบครัว ส่วนเรื่องอาหารก็จะเป็นเรื่องเรียบง่าย


                 อาหารม้ง ม้งไม่ใช่นักดื่มนักกิน อาหารมีลักษณะเรียบง่าย ซึ่งได้แก่ ข้าว เนื้อสัตว์ และผักต่าง ๆ เนื้อสัตว์นอกจาก เนื้อหมู เนื้อวัว ไก่ป่าแล้ว ม้งกินได้ทั้งเนื้อลิง และค่าง (ยกเว้นสุนัขและแมว) ม้งนิยมทานผักกับน้ำมันหมูในเทศกาลปีใหม่ ม้งนิยมฆ่าหมูเพื่อเลี้ยงผี เนื้อหมูจะถูกตัดเป็นชิ้นยาวคลุกกับเกลือ แขวนไว้กับไม้ระแนงหลังคาบ้าน เก็บไว้กินเป็นเวลานาน ๆ เมื่อเดินทางไปเยี่ยมเยียน ในอดีตม้งมักจะประกอบอาหารตามแบบเรียบ เพราะม้งอยู่กับ ธรรมชาติดังนั้นอาหารจะเป็นสิ่งที่ปลูกขึ้นมาเท่านั้น หรือหามาจากป่าเล็กน้อย ม้งไม่นิยมรับประทานอาหารที่ไม่รู้จัก เพราะกลัวว่าอาหารจะเป็นพิษ อาจถึงตายได้ แม้แต่น้ำดื่มม้งยังต้องต้มเพื่อเป็นการฆ่าเชื้อโรคก่อน ม้งจะนิยมต้มน้ำชาดื่มเพื่อบำรุงสุขภาพ จึงทำให้ม้งมีสุขภาพที่แข็งแรง และไม่เป็น โรคง่าย ๆ ม้งจะไม่นิยมรับประทานเนื้อสัตว์จำพวกสุนัข งู ม้า เพราะม้งเชื่อว่าสุนัขเป็นสัตว์ที่สกปรกเมื่อรับประทานจะผิดผี ส่วนสัตว์บ างชนิดจะเป็นสัตว์ ต้องห้าม ส่วนแขกที่สำคัญที่มาเยี่ยมมักเป็นญาติพี่น้องฝ่ายภรรยา ซึ่งแต่งงานต่างวงศ์ตระกูล และไม่ได้อาศัยอยู่ในหมู่บ้านเดียว การเยี่ยมเยียนนี้ จะเป็นเวลาว่างหลังฤดูเก็บเกี่ยว ซึ่งญาติทางฝ่ายภรรยาจะได้รับการต้อนรับอย่างดี


               ในการกินอาหาร ม้งนิยมใช้ตะเกียบซึ่งรับมาจากธรรมเนียมจีน ส่วนเหล้าจะนิยมดื่มกันในงานเลี้ยงต่าง ๆ เช่น งานแต่งงาน งานเลี้ยงญาติ อาจเป็นญาติของภรรยาที่มาเยี่ยม ฝ่ายญาติทางสามีจะต้องรินแก้วเหล้าแจก ครั้งละ 2 แก้ว โดยเชื่อกันว่าจะทำให้คู่สามีภรรยาอยู่ด้วยกันตลอดไป ก่อนจะดื่มเหล้าแต่ละคนจะพูดว่า "ผมจะดื่มเพื่อทุกคน" และจะต้องคว่ำจอก หรือคว่ำแก้วเมื่อหมดแล้ว ม้งจะนิยมดื่มเหล้าครั้งเดียวหมดแก้ว มีการดื่มซ้ำวนเวียนหลายครั้ง ผู้ที่มิใช่นักดื่มย่อมจะทนไม่ได้ อาจขอให้บุคคลอื่นช่วยดื่มแทนก็ได้ เหล้าจะทำกันเองในหมู่บ้าน ซึ่งทำจากข้าวโพด ข้าว หรือข้าวสาลี


               ม้งให้เกียรติแก่ผู้ชาย เพราะฉะนั้นผู้หญิงจึงรับประทานอาหารหลังผู้ชายเสมอ การประกอบอาหารของม้งส่วนใหญ่จะเป็นในลักษณะการต้ม ทอด และม้งยังมีความสามารถในการถนอมอาหาร ซึ่งในการถนอมอาหารสามารถถนอมได้หลายแบบ เช่น การหมัก การดอง (ซึ่งปัจจุบันนี้ ม้งส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ตะเกียบในการรับประทานข้าวแล้ว ส่วนใหญ่จะใช้ช้อนมากกว่า ซึ่งเมืองไทยแทบจะไม่พบม้งที่ใช้ตะเกียบในการทานข้าว แต่ม้งที่ประเทศลาวยังคงใช้ตะเกียบในการรับประทานข้าวอยู่ )อาหารที่ม้งนิยมมาก เช่น ต้มผัก และการทอด หรือการผัด ซึ่งในอดีตนั้นม้งจะนิยมอาหารจำพวกต้มผัก การทอด การผัดผักมาก แต่ปัจจุบันนั้นม้งเริ่มรับความเปลี่ยนแปลงจากสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัว เพราะปัจจุบันม้งในประเทศไทยส่วนใหญ่อยู่ในชุมชนเมืองมากขึ้น ทำให้การประกอบอาหารของม้งจะเริ่มเปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่งเดิมนั้นม้งนิยมอาหารที่ มีรสชาติจืดๆ ไม่ค่อยเผ็ดมากเท่าไรนัก ซึ่งอดีตม้งมีวิธีการประกอบอาหารดังนี้


              1.วิธีการประกอบอาหาร จำพวกต้มในอดีตส่วนประกอบ ผักกาด น้ำมันหมู น้ำ เกลือวิธีการทำ ตั้งหม้อให้ร้อนแล้วนำน้ำมันหมูเทลงประมาณครึ่งช้อน รอให้น้ำมันร้อน จากนั้นเทน้ำเปล่าลงไปในหม้อ เพิ่มไฟให้น้ำเดือด แล้วนำผักที่หั่นได้เทลงไปในหม้อรอให้สุก นำมารับประทานได้ บางครั้งถ้ามีเนื้อหมูก็จะนำมาผสมใส่ลงไปด้วย แต่ถ้าไม่มีก็รับประทานเช่นนั้น (ม้งจะไม่นิยมใส่ ผงชูรส น้ำปลา รสดี เพราะจะทำให้รสชาติของอาหารเปลี่ยนไป


            2. วิธีการประกอบอาหารจำพวก ผัด ทอด ในอดีตส่วนประกอบ ผักกาด น้ำมันหมู เกลือ วิธีการทำ ตั้งไฟ ตั้งกะทะให้ร้อน แล้วเทน้ำมันหมูลงในกะทะ พอร้อนแล้วเทผักที่เตรียมไว้ลงไปผัดกับน้ำมันหมูเท่านั้น ถ้ามีหมูก็จะผัดกับหมู แต่ถ้าไม่มีหมูก็จะผัดเพียงแค่ผักกับน้ำมันหมูเท่านั้นรอให้สุก ยกกะทะลง แบ่งไปรับประทาน (จะไม่นิยมใส่ผงชูรส กระเทียม น้ำปลา) แต่ในปัจจุบันนี้ม้งได้รับการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งแวดล้อมรอบข้างมาก จึงทำให้เรื่องอาหารของม้งเริ่มเปลี่ยนไปบ้างเล็กน้อย เพราะว่าม้งที่เป็นผู้ใหญ่จะ่รับประทานอะไรยาก จึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป


            3. อาหารจำพวกหมัก และดองของม้ง ได้แก่ การหมักเนื้อหมู การหมักเนื้อหมี เพื่อเก็บไว้บริโภคนาน ๆ จะมีวิธีการทำดังนี้ ส่วนประกอบ เนื้อหมู และภาชนะที่ใช้เก็บวิธีการทำ นำเนื้อหมู หรือเนื้ออะไรก็ได้ที่ต้องการเก็บไว้บริโภคนาน ๆ เอากะทะมาตั้งไฟไว้แล้วนำเนื้อหมูมาต้ม โดยที่ต้มจนน้ำระเหยไปให้หมด ส่วนเนื้อที่ต้มก็จะเหลว หรือยังเป็นชิ้นอยู่แต่เนื้อนุ่มมาก จากนั้นจะนำไปเก็บไว้ในภาชนะ ปิดฝาให้เรียบร้อย เมื่อต้องการรับประทานเมื่อไร ก็สามารถจะนำ มาอุ่นรับประทานได้เลย วิธีการนี้เป็นวิธีการที่ม้งใช้ตั้งแต่สมัยโบราณสืบทอดกันมา การหมักอาหารในอดีตม้งจะนำกระบอกไม้ไผ่ในการบรรจุ แล้วปิดปากกระบอกให้เรียบร้อย


           4. อาหารจำพวกดอง อาหารจำพวกดองได้แก่ การดองหน่อไม้ ผักกาดดอง ส่วนประกอบของอาหาร ได้แก่่้ หน่อไม้ หรือผักกาด หรือตามชนิดของผักที่ต้องการดอง ถ้าเป็นหน่อก็จะต้องสับหน่อให้เรียบร้อยก่อนวิธีการทำ นำหน่อไม้ที่สับเรียบร้อยแล้วมาผสมกับเกลือพอประมาณ แล้วนำไปบรรจุในภาชนะที่เตรียมไว้ ถ้าเป็นผักกาดก็จะทำวิธีการเดียวกัน


การตากเมล็ดพันธุ์


             5. การตากเมล็ดพันธุ์ ม้งส่วนใหญ่จะตากเมล็ดโดยการสร้างซุ้มไว้เหนือกองไฟ เพื่อที่จะตากเมล็ดพันธุ์ต่าง ๆ เนื่องจากม้งส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตหนาว หรืออยู่ในป่าลึกเข้าไป ทำให้เป็นอุปสรรคในการตากเมล็ดพันธุ์ ม้งจึงนิยมนำเมล็ดพันธุ์มาตากไว้ในบ้าน เพราะม้งต้องทำงาน ในไร่ในสวน และไม่มีเวลาที่จะเก็บเมื่อเวลาฝนตก ดังนั้นจึงนิยมตากในบ้าน


ประเภณี


            ประเพณีขึ้นปีใหม่หรือประเพณีฉลองปีใหม่ ซึ่งเป็นงานรื่นเริงของชาวม้งของทุก ๆ ปี จะจัดขึ้นหลังจากได้เก็บเกี่ยวผลผลิตในรอบปีเรียบร้อย และเป็นการฉลองถึงความสำเร็จในการเพาะปลูกของแต่ละปี ซึ่งจะต้องทำพิธีบูชาถึงผีฟ้า - ผีป่า – ผีบ้าน ที่ให้ความคุ้มครอง และดูแลความสุขสำราญตลอดทั้งปี รวมถึงผลผลิตที่ได้ในรอบปีด้วย ซึ่งแต่ละหมู่บ้านจะทำการฉลองกันอย่างพร้อมเพรียงกัน หรือตามวัน และเวลาที่สะดวกของแต่ละหมู่บ้าน ซึ่งโดยมากจะอยู่ในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี ประเพณีฉลองปีใหม่ม้งนี้ชาวม้งเรียกกันว่า “น่อเป๊โจ่วฮ์” แปลตรงตัวได้ว่า “กินสามสิบ” สืบเนื่องจากชาวม้งจะนับช่วงเวลาตามจันทรคติ โดยจะเริ่มนับตั้งแต่ขึ้น 1 ค่ำ ไปจนถึง 30 ค่ำ (ซึ่งตามปฏิทินจันทรคติจะแบ่งออกเป็นข้างขึ้น 15 ค่ำ และข้างแรม 15 ค่ำ) เมื่อครบ 30 ค่ำ จึงนับเป็น 1 เดือน ดังนั้นในวันสุดท้าย (30 ค่ำ) ของเดือนสุดท้าย(เดือนที่ 12) ของปีจึงถือได้ว่าเป็นวันส่งท้ายปีเก่า ช่วงวันฉลองปีใหม่ส่วนใหญ่จะตกอยู่ประมาณช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนมกราคม ในวันดังกล่าวหัวหน้าครัวเรือนของแต่ละบ้าน จะประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เพื่อความเป็นสิริมงคลของครัวเรือน ถัดจากวันส่งท้ายปีเก่าไป 3 วัน คือวันขึ้น 1 ค่ำ 2 ค่ำและ 3 ค่ำของเดือนหนึ่ง จัดเป็นวันฉลองปีใหม่อย่างเป็นทางการ ซึ่งทุกคนจะหยุดหน้าที่การงานทุกอย่างในช่วงวันดังกล่าวนี้ และจะมีการจัดการละเล่นต่าง ๆ ในงานขึ้นปีใหม่ เช่น การละเล่นลูกช่วง การตีลูกข่าง การร้องเพลงม้ง


1. การละเล่นลูกช่วง ในวาระขึ้นปีใหม่ม้งจะมีการละเล่นเพื่อฉลองวันปีใหม่โดยเฉพาะ การเล่นลูกช่วง (ntsum pob) หรือที่เรียกกันว่า “จุเป๊าะ” ลูกช่วง (pob) มีลักษณะกลมเหมือนลูกบอลทำด้วยเศษผ้า มีขนาดเล็กพอที่จะถือด้วยมือข้างเดียวได้ การละเล่นลูกช่วง จะแบ่งกลุ่มผู้เล่นออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายหญิงกับฝ่ายชายโดยที่ก่อนจะมีการละเล่น ฝ่ายหญิงจะเป็นผู้ที่เอาลูกช่วงไปให้ฝ่ายชาย หรือญาติ ๆ ของฝ่ายหญิงเป็นผู้ที่นำลูกช่วงไปให้ฝ่ายชาย เมื่อตกลงกันได้ก็จะทำการโยนลูกช่วงโดยฝ่ายหญิง และฝ่ายชายแต่ละฝ่ายจะยืนเป็นแถวหน้า กระดานเรียงหนึ่ง หันหน้าเข้าหากันมีระยะห่างกันพอสมควร แล้วโยนลูกช่วงให้กันไปมาและสามารถทำการสนทนา กับคู่ที่โยนได้


จุดประสงค์ของการเล่น เพื่อความสนุกสนานเป็นการฉลองปีใหม่ และเป็นการหาึึคู่ให้กับหนุ่มสาว เพื่อมิตรภาพที่ดีต่อกัน ส่วนหญิงที่แต่งงานแล้วจะไม่มีสิทธิ์ในการเล่นลูกช่วงอีก เพราะถือว่าผิดตามธรรมเนียมของม้ง ส่วนฝ่ายชาย สามารถเล่นได้แต่อยู่ที่ว่าฝ่ายหญิงจะทำการยินยอมเล่นกับตนหรือไม่ แล้วแต่ฝ่ายหญิงสาวคนนั้น การเล่นลูกช่วง ยังเป็นการช่วยฝึกทักษะความชำนาญในการคว้าจับสิ่งของที่พุ่งเข้ามาปะทะใบหน้า อันเป็นการฝึกป้องกันตัวจากสิ่งของที่ลอยมาหาใบหน้าอย่างกระทันหันได้ด้วย ในช่วงระหว่าง การเล่นลูกช่วงหนุ่มสาวที่เล่นลูกช่วงจะร้องเพลงโต้ตอบกัน เพิ่มความสนุกสนานในการเล่น


การละเล่นลูกช่วง


        กติกาการเล่น มีการปรับผู้แพ้ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้เล่นเอง ไม่มีกติกากำหนดตายตัวแต่ประการใด ชาวม้งมีการเล่นลูกช่วงเป็นวัฒนธรรมประจำเผ่ามาช้านานแล้ว ชนเผ่าอื่นในไทยไม่มีการละเล่นในทำนองนี้ ม้งได้สืบทอดวัฒนธรรมการเล่นลูกช่วงมาตั้งแต่สมัยที่ยังอาศัยอยู่ในประเทศจีน ซึ่งในสมัยที่ยังอาศัยอยู่ในประเทศจีนนั้น ในทุกๆปีของช่วงเดือนแรกในฤดูใบไม้ผลิจะมีการเล่น "ระบำดวงจันทร์ (Moon dance)" โดยจะประดิษฐ์จากเศษผ้าสีต่าง ๆ เป็นลูกบอลเล็ก ๆ เรียกว่า ลูกบอลลี เป้าหมายอยู่ที่คนรักของแต่ละคน (ม้งที่อยู่ในประเทศจีนจะมีงานฉลองลูกช่วงในเดือนแรกของฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งตรงกับเดือนมีนาคม -เมษายนของทุกปี ส่ วนม้งที่อยู่ในประเทศไทยจะมีการฉลองงานลูกช่วงในเืดือนธันวาคม - มกราคมของทุก ๆ ปี ) ลูกช่วง หรือลูกบอลที่ใช้เล่นกันในหมู่บ้าน ม้งในประเทศไทยนั้นบางหมู่บ้านทำด้วยผ้าสีดำ ซึ่งตรงกันข้ามกับม้งในประเทศจีนที่นิยมเล่นลูกบอลที่มีสีสันสดใส


2. การเล่นลูกข่าง การเล่นลูกข่าง หรือที่เรียกกันว่า “เดาต้อลุ๊” เป็นการละเล่นอีกอย่างหนึ่งที่นิยมเล่นกันในวันขึ้นปีใหม่ของม้ง เป็นการละเล่นสำหรับผู้ชายโดยเฉพาะ การเล่นลูกข่างในโอกาสเช่นนี้จะแยกเล่นเป็นวงผู้ใหญ่และวงเด็ก
จุดประสงค์การเล่น เพื่อความสนุกสนานสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านด้วยกัน
การประดิษฐ์ลูกข่าง สำหรับลักษณะของลูกข่าง จะทำมาจากไม้ กล่าวคือจะมีการนำท่อนไม้ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 - 5 เซ็นติเมตร ตามความต้องการ และความเหมาะสมของผู้เล่น นำมาตัดเป็นท่อนๆยาวประมาณท่อนละ 5 นิ้ว แล้วนำไม้ที่ตัดเป็นท่อนนั้นมาทำการตัดแต่งตามต้องการ โดยส่วนหัวจะมีลักษณะทู่ ๆ ราบเรียบในขณะที่ส่วนหางหรือส่วนที่ใช้ หมุนยืนพื้นนั้นจะทำให้มีลักษณะแหลมคล้าย ๆ ดินสอ
          วิธีการละเล่น เมื่อต้องการเล่นก็จะนำไม้ที่ผูกเชือกยาวประมาณสองถึงสามเมตรมาม้วนรอบลูกข่าง โดยมือข้างหนึ่งจะถือลูกข่างที่ถูกเชือกหมุนพันรอบไว้ และมืออีกข้างจะถือไม้ที่ผูกเชือกที่หมุนรอบลูกข่างไว้ แล้วเอามือทั้งสองสะบัดไปข้างหน้า พร้อมดึงไม้ที่ผูกเชือกไว้อย่างแรง แล้วลูกข่างจะตกสู่พื้นแล้วหมุน ซึ่งในกติกาในการเล่นจะถูกแบ่งออกเป็นสองฝ่าย โดยที่ฝ่ายหนึ่งจะเป็นฝ่ายตีลูกข่างที่กำลังหมุนอยู่ของอีกฝ่าย โดยฝ่ายที่ตีนั้นจะต้องพยายามตีลูกข่างให้ถูกมากที่สุด ซึ่งถ้าหากสามารถทำการตีถูกมาก ก็จะสามารถทำการตีต่อไปได้ แต่หากตีไม่ถูกก็จะต้องเปลี่ยนมาเป็นฝ่ายหมุนลูกข่างให้อีกฝ่ายผลัดไปเป็นฝ่ายตีแทน การเล่นลูกข่างนี้ นอกจากจะได้รับความสนุกสนานจากการเล่นแล้ว ยังเป็นการฝึก และทดสอบความแม่นยำทางด้านสายตาด้วย ป้ัััั้ีัจจุบันการละเล่นลูกข่างเริ่มหายไปตามวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป อย่างไรก็ตาม การเล่นลูกข่างก็ยังมีให้เห็นอยู่บ้างในช่วงเทศกาลปีใหม่ม้ง หรือเทศกาลต่าง ๆ ของชนเผ่า


3. เพลงม้ง ม้งจะมีเพลงหลายชนิดซึ่งจะใช้ร้องแตกต่างกันไปตามเทศกาล ตัวอย่างเพลงที่ใช้ร้องในงานเทศกาลปีใหม่ม้งได้แก่


3.1 เพลงใบไม้บรรพบุรุษม้งรู้จักนำใบไม้มาเป่าเป็นเสียงเพลงตั้งแต่อดีตกาลมาแล้ว อย่างเช่นชาวจีนทั่ว ๆ ไป เนื่องจากแต่ไหนแต่ไรมาม้งอาศัยอยู่กับธรรมชาติป่าไม้้ และหุบเขามาโดยตลอด จึงรู้จักสร้างเสียงเพลงจากใบไม้ออกมาเป็นเสียงเพลง ซึ่งใบไม้ที่ใช้เป่า และเสียงก้องกังวานดีที่สุด และไกลกว่าใบไม้ชนิดใด ๆ ก็คือ “ใบกล้วย” ด้วยเหตุนี้ในยามที่เดินไปทำไร่ทำสวนในป่า ก็จะมีการนำใบกล้วยมาเป่าเป็นเสียงเพลงเรียกกัน หรือบ่งบอกที่อยู่ หรือจุดของตนเองว่าในขณะนั้นตัวเองอยู่ ณ จุดใดของเส้นทางหรือป่า อีกทั้งหนุ่มสาวยังใช้เป็นสื่อในการใช้เรียกกัน หรือเกี้ยวกัน และกันด้วย โดยจะใช้เป่า โต้ตอบ หรือเรียกหากันข้ามหุบ หรือดอยในขณะที่กำลังทำไร่ทำสวนกัน ในการเป่าใบไม้ออกมาเป็นเสียงเพลงนี้ต้องใช้แรงลมในการเป่ามาก จึงมักเหนื่อยเร็ว ต่อไปนี้เป็น ลักษณะเนื้อร้องของเพลงใบไม้เราไปจากที่นี่ เธอเศร้าใจไหม ถ้าเธอเศร้าใจ เราจะมาหาเธอถ้าเศร้าใจ จะมาหาเธอ เธอจะว่าอย่างไร หากเธอมีใจ ขอใหบอกเรามา เรามีใจจะไปหาเธอ


3.2 เพลงจิ๊งหน่อง หรือเพลง Ncaag (จั่น) เป็นเพลงที่ใช้เรียกหากันของหนุ่มสาวในยามค่ำคืน เวลาพักผ่อนหรือยามว่างหนุ่มม้งจะออกไปหาสาวคนรักที่บ้านสาว การจะเอ่ยเสียงร้องเรียกสาวนั้นอาจรบกวน และทำให้พ่อแม่ฝ่ายสาวคนรักตื่นได้ และย่อมรู้ว่าผู้เรียกนั้นเป็นใครได้ การจะกระทำเช่นนั้นแสดงว่าเป็นสิ่งไม่สมควร และเป็นการไม่ให้ความเคารพนับถือผู้ใหญ่ของฝ่ายหญิงสาว เพลง จิ๊งหน่อง "ncaag" จึงเป็นสื่อช่วยให้หนุ่มสาวม้งได้พบกัน โดยไม่กวนใจพ่อแม่ของสาว หนุ่มจะไปยืนดีดเพลงจิ๊งหน่อง "ncaag" นอกบ้านบริเวณใกล้กับห้องนอนของสาวคนรัก เมื่อสาวคนรักได้ยินเสียงเพลงก็จะโต้ตอบด้วย เพลงจิ๊งหน่อง "ncaag" เช่นกัน เพลงจิ๊งหน่อง " ncaag" นี้จะเป็นเพลงรหัสเฉพาะตัวของหนุ่มสาวแต่ละคู่ ซึ่งต่างก็จะรู้ความหมายซึ่งกันและกันเฉพาะในคู่รักของตน หรือผู้ที่คุ้นเคยเท่านั้น อีกอย่างหนึ่ง เพลงจิ๊งหน่อง "ncaag" ทำหน้าที่เป็นภาษาใจของกันและกันให้หนุ่มสาวม้ง


3.3 เพลงร้องในเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ งานฉลองวันขึ้นปีใหม่มีความหมายสำหรับหนุ่มสาวม้งโดยเฉพาะ เป็นโอกาสที่ผู้ใหญ่อนุญาตให้หนุ่มสาวได้มีโอกาสพบปะกันอย่างเต็มที่ ในวันขึ้นปีใหม่หนุ่มสาวจะเล่นลูกช่วง และมีการร้องเพลงโต้ตอบกัน ในโอกาสนี้หนุ่มสาวมีสุข สนุกสนานกับการเล่น และการร้องเพลง ความหมายของเพลงที่ใช้ร้องโต้ตอบกัน เป็นไปในทำนองเกี้ยวพาราสีกัน บางคู่อาจถือโอกาสสารภาพความในใจของตนเอง หรือขอแต่งงานเลยก็ได้ ต่อไปนี้เป็น ตัวอย่างเนื้อร้องของเพลงที่ร้องในเทศกาลขึ้นปีใหม่“พ่อแม่บอกว่าเราโตเป็นหนุ่ม/สาวแล้ว พ่อแม่ว่าดีอย่างไร พ่อแม่ไม่อาจห้ามลูกสาวได้ ลูกสาวจำต้องแต่งงานกับหนุ่ม บ่าวสาวตกลงจะแต่งงานกันตกลงกันแล้ว พ่อแม่จะว่าเช่นไร”


4. การเต้นรำของม้ง การแสดงเต้นรำในเทศกาลปีใหม่ม้ง ม้งมีการแสดงอยู่มากมาย เช่น การรำกระโด้ง การรำเก็บใบชา การฟ้อนงิ้ว การเป่าขลุ่ยม้ง การฟ้อนงิ้วม้ง
การแสดงการเป่าขลุ่ยของม้ง จะแสดงในงานเทศกาลและวันสำคัญอื่นๆเท่านั้น เป็นการสื่อถึงเครื่องดนตรีของม้ง และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของม้ง ซึ่งขลุ่ยนั้นเป็นเครื่องดนตรีคู่กายของชายม้ง ซึ่งชายม้งจะไม่ค่อยกล้าที่จะบอกรักสาว ดังนั้นจึงต้องอาศัย ขลุ่ยเป็นสื่อในการบอกรักสาว จึงดูเป็นที่น่าสนใจมาก การฟ้อนงิ้วของม้ง จะแสดงในงานเทศกาลปีใหม่ และงานสำคัญต่างๆเป็นการแสดงถึงความอ่อนช้อยของม้ง


5. การแสดงการรำกระด้งของม้ง จะแสดงในงานเทศกาลปีใหม่ และวันสำคัญต่าง ๆเ ท่านั้น เป็นการสื่อถึงเครื่องมือเครื่องใช้ของม้ง ซึ่งอดีตนั้นม้งนิยมใช้กระด้งในการฟัดข้าว หรือใช้เป็นอุปกรณ์ในการทำขนมม้ง ดังนั้นม้งจะขาดกระด้งไม่ได้เลย ซึ่งกระด้งมี ความสำคัญต่อม้งมากเกี่ยวกับชีวิตประจำวัน


6. การแสดงการรำเก็บใบชาของม้ง จะแสดงในงานเทศกาลปีใหม ่และวันสำคัญต่าง ๆ เท่านั้น เป็นการสื่อถึงเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของม้งซึ่งอดีตม้ง นิยมเก็บใบชานำมาต้มเป็นน้ำชาดื่มในชีวิตประจำ ม้งจึงได้มีการรำลึกถึงคุณค่าของใบชาที่ช่วยทำให้ร่างกายม้งสมัยก่อนค่อนข้างแข็งแรง สามารถตรากตรำทำงานหนักได้ตลอดทั้งปี


7. การแสดงการเป่าแคนของม้ง จะแสดงในงานเทศกาลปีใหม่ และวันสำคัญต่าง ๆ เท่านั้น เป็นการสื่อถึงวิถีชีวิตม้ง เนื่องจากเครื่องดนตรีแคน หรือเฆ่น (ภาษาม้ง) นั้นเป็นอุปกรณ์คู่กายของชายม้ง เช่นกันที่ใช้ในการสื่อถึงการบอกรักกับหญิงสาว หรือสามารถที่จะใช้แคนในการทำ พิธีกรรมต่าง ๆ เช่น งานแต่งงาน งานศพ เป็นต้น


8. การแสดงการรำใบพัดของม้ง จะแสดงในงานเทศกาลปีใหม่ และวันสำคัญต่าง ๆ เท่านั้น เป็นการสื่อถึงความอ่อนช้อยของหญิงสาวม้ง และเป็นการอวดถึงเสื้อผ้าที่สวมใส่อยู่ ซึ่งการแสดงชุดนี้ได้รับวัฒนธรรมจากชนเผ่าพื้นเมือง


9. การแสดงการนั่งรถแข่งของม้ง การแข่งขันรถสามล้อจะมีเฉพาะในเทศกาลปีใหม่เท่านั้น จะเป็นการเล่นของเด็ก และผู้ใหญ่ ซึ่งสมัยก่อนม้งไม่มีรถ หรือยวดยานพาหนะใช้ในการเดินทาง และไม่มีของเล่นให้กับเด็ก ๆ ได้เล่นกัน เนื่องจากอยู่ห่างไกลจากความเจริญมาก ดังนั้นไม่สามารถที่จะหาซื้อของเล่นให้กับเด็ก ๆ เล่นได้ ดังนั้นผู้ใหญ่จึงได้คิดค้นสร้างรถสามล้มขึ้นให้กับ เด็ก ๆ ได้เล่นกัน ต่อมาจึงได้มีการนำมาขี่แข่งขันกัน และได้มีวิวัฒนาการที่จะพัฒนาให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อให้ผู้ใหญ่สามารถที่จะเล่นได้ จึงได้มีการประกวดแข่งขันกันว่า รถคันไหนไปไกลที่สุด และรถคันไหนตกแต่งได้สวยงามที่สุด


ประเพณีกินข้าวใหม่


          กินข้าวใหม่ของม้ง เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยรุ่นทวด – รุ่นปู่ ซึ่งม้งจะมีความเชื่อว่าจะต้องเลี้ยง ผีปู่-ผีย่า เพราะช่วงเวลาในหนึ่งรอบปีหรือในหนึ่งปีที่ผ่านมานั้นผีปู่ – ผีย่า ได้ดูแลครอบครัวของแต่ละครอบครัวเป็น อย่างดี ดังนั้นจึงมีการปลูกข้าวใหม่เพื่อจะเซ่นบูชา คุณผีปู-ผีย่ากับเจ้าที่ทุกตน ซึ่งการกินข้าวใหม่จะทำกันในเดือน ตุลาคมของทุกปี ข้าวใหม่คือข้าวที่ปลูกขึ้นมาเพื่อที่จะเซ่นถวายให้กับผีปู่-ผีย่า แล้วสุกในระหว่างเดือนกันยายน ถึง ต้นเดือนตุลาคม แล้วจะต้องเก็บเกี่ยวโดยเคียวเกี่ยวข้าวที่มีขนาดเล็ก เพราะเคี่ยวที่ใช้เกี่ยวนั้นสามารถที่จะเกี่ยวต้นข้าวได้เพียง 3-4 ต้นเท่านั้น จะเริ่มเกี่ยวได้เมื่อรวงข้าวสุกแต่ยังไม่เหลืองมาก ต้องเกี่ยวตอนที่รวงข้าวมีสีเขียวปนเหลือง เมื่อเกี่ยว เสร็จก็จะนำมานวดให้ข้าวเปลือกหลุดออกโดยไม่ต้องตากให้แห้ง นำข้าวเปลือกที่นวดเรียบร้อยแล้วมาคั่วให้เม็ดข้าวแข็งและเปลือกข้าวแห้ง เพื่อให้สะดวกในการตำข้าว ในอดีตนั้นนิยมการตำข้าวด้วยโค้กกระเดื่อง เมื่อตำเสร็จเรียบร้อยนำข้าวมาหุงเพื่อเซ่นไหว้ผีปู่-ผีย่า ซึ่งในการทำพิธีเซ่นผีนั้น สามารถทำโดยการนำไก่ตัวผู้มาเซ่นไหว้ตรงผีประตูก่อน โดยการนำไก่ที่ต้มทั้งตัวมาประกอบพิธีซึ่งตำแหน่งที่จะต้องเซ่นไหว้มี 5 แห่งได้แก่ สื่อก๋าง ดั้งขอจุ๊บ ดั้งขอจุด ดั้งขอจ่อง ดั้งจี้ดั้ง ขณะทำพิธีต้องสวดบทสวดเพื่อที่บอกให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือได้รับรู้และ เข้ามาทานก่อน เมื่อทำพิธีเสร็จคนในบ้านถึงจะสามารถทานต่อได้ ซึ่งพิธีกินข้าวใหม่นั้นได้สืบทอด มานานหลายชั่วอายุคน


เครื่องดนตรี


เครื่องดนตรีม้งสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท


1. เครื่องดนตรีประเภทเป่า ได้แก่ จิ๊งหน่ิอง "จ่าง" ขลุ่ย และ แคนหรือเฆ่ง


2. เครื่องดนตรีประเภทตี ได้แก่ กลอง "จั๊ว"


1. เครื่องดนตรีประเภทเป่า


1.1 จิ๊งหน่อง (จ่าง-Ncas) เป็นเครื่องดนตรีคู่กายคู่ใจ ของหนุ่มสาวม้งจ่างเป็นเครื่องดนตรีที่ปู่ย่าตายายท่านสร้างไว้ และเชื่อกันว่ามีผีสิงอยู่ ใช้เป่าเพื่อบรรยายความรู้สึกในใจ สามารถเป่าได้หลากหลายรูปแบบ เช่น เราเป็น หนุ่มต้องเดินทางไกลไปเที่ยวสาวก็จะเป่าจ่างทางไกล หรือถ้าเป็นหนุ่มสาวในหมู่บ้านเดียวกันก็จะเป่าอีกแบบหนึ่ง เพื่อแสดงว่าเราเป็นคนคุ้นเคยกัน จ่างนับว่าเป็นเครื่องดนตรีของม้งที่ใช้สื่อรักกัน แต่พอได้มาเป่าจ่างโต้ตอบกัน และทำให้ต่างคนต่างเห็นคุณค่าของแต่ละคน จนเกิดความผูกพัน และรักกัน


การเป่าจ่าง เราจะต้องเป่าชมเชยยกย่องเขา เขาเองก็จะเป่าชมเชยยกย่องเราเช่นกัน ในบางเรื่องราวที่เราต้องการสื่อความรักแต่ไม่กล้าพูดก็จะใช้จ่างเป็นสื่อ เพราะจ่างเป็นเครื่องดนตรีที่สื่อภาษารักได้ด้วยความนุ่มนวล และไม่ทำให้ผู้สื่อ และผู้รับนั้นเกิดความเขินอาย การเรียนรู้ในเรื่องการเป่าจ่างนั้นไม่จำเป็นต้องมีครูสอน เพียงแต่เรียนรู้หลักการนิดหน่อย แล้วก็ฝึกฝนด้วยตนเอง หลักเกณฑ์ในการเป่าจ่างก็จะต้องมีคำขึ้นต้น มีคำที่ใช้แทนนามสกุลที่ต่างกันไป สำหรับเนื้อหาของจ่างนั้นมีหลากหลายเรื่องราว แล้วแต่ว่าจะเป่าพูดถึงเรื่องอะไร อาจจะเป็นเนื้อหาที่คิดเองทำเองก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามหลักการเนื้อหาที่เป่า จะเป็นเรื่องราวที่พรรณนาให้เห็นภาพความสวยงามของสาว เมื่อเทียบกับดอกไม้ใบหญ้า


ดังนี้ในการเกี้ยวพาราสีของม้งนั้นเราจะใช้จ่างเป็นสื่อ ของประเพณีการเกี้ยวพาราสีอย่างหนึ่งของม้ง ก็คือหนุ่มต้องไปหาสาวในยามค่ำคืน ซึ่งสาวนอนในบ้านหนุ่มอยู่ นอกบ้านหนุ่มต้องรู้ว่าสาวนั้นเป็นใคร นอนอยู่ตรงไหน ในยามที่ทุกคนหลับหนุ่มจะค่อย ๆ ไปเรียกสาว สาวเองคงไม่่ตอบหนุ่มอย่างง่ายดาย เหมือนที่ทุกคนคิดกัน ถ้าสาวไม่ตอบหนุ่มก็ต้องกลับ หรือไม่ก็ตอบมาว่ายามนี้เวลาดึกแล้ว ทุกคนต้องการพักผ่อน ขออย่าได้มารบกวนเมื่อได้คำตอบเช่นนี้ หนุ่มก็ต้องกลับไปที่บ้าน แล้วหาวิธีที่ให้พูดกับสาวให้ได้รู้จักกัน นั่นคือหนุ่มจะต้องเป่าจ่างที่เป็นบทเพลงรักมอบให้สาวเพื่อให้สาวได้้เห็นคุณค่าของหนุ่ม แล้วจะมีเสียงตอบออกมาว่า ใครนะเป่าจ่างได้เก่งจังเลย อยากจะรู้จักจริง ๆ การสนทนาจึงเกิดขึ้น จ่างเป็นดนตรีที่มีอิทธิพลต่อความรู้สึกของคนม้งในอดีตอย่างยิ่ง ปัจจุบันจ่างได้หายไปจากวิถีชีวิตของหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ ทำให้หลาย ๆ คนได้รู้จักความหมายในการสื่อรักด้วยจ่าง และถ้าหากจะมีใครนำกลับมาเรียนรู้ และนำไปใช้อีกครั้งหนึ่งก็คงจะดีไม่น้อยเลย


1.2 แคน (Qeej) เป็นภาษาม้ง อ่านว่า เฆ่ง หรือ qeng ซึ่งแปลว่า แคน หรือ mouth organ เฆ่ง หรือแคนเป็นเครื่องดนตรีที่ทำจากลำไม้ไผ่ และไม้เนื้อแข็ง มีปรากฏในเอเชียมากว่า 3,000 ปีแล้ว และถือได้ว่าเป็นเครื่องดนตรีที่เก่าแก่ที่สุดชนิดหนึ่ง ม้งมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับความเป็นมาของเฆ่งว่า ในอดีตกาลมีคนม้งอยู่ครอบครัวหนึ่ง มีพี่น้อง 7 คน วันหนึ่งผู้เป็นบิดาสิ้นชีวิตลง และบรรดาพี่น้องทั้ง 7 คน ต้องการจัดพิธีงานศพเพื่อเป็นเกียรติให้กับผู้เป็นบิดา แต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี จึงได้ขอคำปรึกษาจากเทพเจ้า "ซีย" ซึ่งคนม้งมีความเชื่อว่าเป็นเทพเจ้าที่พระเจ้าส่งมาเพื่อช่วยเหลือมวลมนุษย์ในโลก และเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดพิธีกรรมที่สำคัญทางศาสนาของคนม้ง เทพเจ้าซียีได้แนะนำให้ คนหนึ่งไปหาหนังสัตว์มาทำกลองไว้ตี และอีกหกคนไปหาลำไม้ไผ่ที่มีขนาด และความยาวไม่เท่ากันมาคนละอัน เรียงลำดับตามขนาด และอายุของแต่ละคน เมื่อเตรียมพร้อมแล้ว ให้คนหนึ่งตีกลอง และอีก 6 คนที่เหลือ เป่าลำไม้ไผ่ของตนบรรเลงเป็นเพลงเดียวกัน และเดินวนไปรอบ ๆ คนที่ตีกลองพร้อมกับมอบบทเพลงต่าง ๆ ให้เมื่อเทพเจ้าซียี กล่าวเสร็จ พี่น้องทั้ง 7 จึงได้กลับไปจัดงานศพให้บิดาตามที่เทพเจ้าซียีได้แนะนำให้ ต่อมามีพี่น้องคนหนึ่งได้ตายจากไป เหลือคนไม่พอที่จะเป่าลำไม้ไผ่ทั้งหก พี่น้องที่เหลือ 6 คน จึงได้ขอคำปรึกษาจากเทพเจ้าซียีอีกครั้ง เทพเจ้าซียีจึงแนะนำให้รวมลำไม้ไผ่ทั้งหกมาเป็นชุดเดียวกัน แล้วให้คนเดียวเป่าเท่านั้น ส่วนคนอื่นให้ทำหน้าที่ถวายเครื่องบูชา ตระเตรียมอาหาร และทำหน้าที่อื่นไป ต่อมารูปแบบพิธีงานศพดังกล่าวก็ได้รับการถือปฎิบัติมาเรื่อย ๆ จนกลายเป็นประเพณีในการจัดพิธีงานศพของคนม้งมาจนกระทั่งทุกวันนี้ เฆ่งประกอบด้วยลำไม้ไผ่ทะลุปล้อง 6 อัน คือ ซย้งตั๋วจื๋อ (xyoob tuam tswm) 1 อัน และ ซย้งเฆ่ง (xyoob qeej) 5 อัน แต่ละอันมีขนาด และความยาวไม่เท่ากันกับลำไม้เนื้อแข็งซึ่งมีปากกลมยาว (ก๋างเฆ่ง kaav qeej) เป็นไม้แดงหรือ ที่ภาษาม้งเรียกว่า ดงจือเป๋ (ntoo txwv pem)


เมื่อเป่าหรือสูดลมเข้าออก จะให้เสียงไพเราะต่อเนื่องกัน ตลอดจนจบตอนของบทเพลงลำไม้ไผ่ แต่ละอันมีชื่อเรียกเฉพาะของตัวเอง เช่น ดีลัว ดีไล ดีเส่ง ดีตือ ดีจู้ คนม้งจะใช้แคน (เฆ่ง) ในพิธีงานศพเป็นหลัก โดยเป็นเครื่องนำทางดวงวิญญาณของผู้ตายไปสู่ปรโลก หรือแดนของบรรพบุรุษ ฉะนั้นในธรรมเนียมม้งจึงห้ามมิให้ฝึกเป่าแคนภายในบ้าน ส่วนใหญ่จะฝึกในที่ ๆ ห่างไกลจากหมู่บ้านซึ่งมักจะเป็นที่พักพิงตามไร่สวน


เนื้อเพลงเฆ่งในพิธีงานศพโดยทั่วไปจะมีลำดับการเป่าดังนี้ ดี๋ (ntiv) ซึ่งเป็นการโหมโรง ปลั่วจี๋เฆ่งจี๋ จรั่ว (pluas cim qeej cim nruag) รัวกลองพร้อมกันไปกับเพลงเฆ่งลื๋อฆะจรั่ว (lwm qab nruag) การลอดใต้คานที่แขวนกลองของผู้เป่าเฆ่งซุตัว (xub tuag) เป็นการแนะนำเพลงเฆ่งฆัวซุตัว (quas xub tuag) เป็นการลงท้ายบทแนะนำเพลง ยซ่าเฆ่งตัว (zaj qeej tuag) เริ่มต้นเนื้อเพลงฆัวยซ่าเฆ่งตัว (quas zaj qeej tuag) เป็นการร่ายเนื้อเพลงเพื่อเข้าสู่ปรโลก เฆ่งตร๋อฆ้าง (qeej rov qaab หรือ raib leev) เป็นขั้นตอนการกลับจากปรโลก ยซายตร้อยซายเหนง (zais roj zais neev) เป็นขั้นตอนการกลบเกลื่อนเส้นทางกลับจากปรโลก เพื่อมิให้มีวิญญาณติดตามมาได้เส่าเฆ่ง (xaus qeej) ลงท้ายบทเพลง ประเภทของบทเพลงที่ใช้ในพิธีงานศพมีดังนี้เฆ่งตูสา (qeej tu sav) เพลงแรกหลังจากผู้ตายได้สิ้นลมหายใจแล้ว เฆ่งฆฮัวะเก (qeej qhuab ke) เพลงนำทางดวงวิญญาณไปสู่ปรโลกหรือแดนแห่งบรรพบุรุษ เฆ่ง นเจเหน่ง (qeej nce neeg) เพลงเคลื่อนย้ายศพขึ้นหิ้ง (แคร่ลอย)เฆ่ง เฮลอเด๋อ (qeej hlawv ntawv) เพลงเผากระดาษเงินกระดาษทองให้ผู้ตายเฆ่งเสอเก๋ (qeej sawv kev) เพลงเคลื่อนย้ายศพออกจากบ้าน นอกจากจะใช้ในพิธีงานศพแล้ว ยังมีการใช้เฆ่ง เพื่อความบันเทิงในงานรื่นเริงต่าง ๆ ด้วย โดยเฉพาะการเต้นรำเฆ่งในงานฉลองเทศกาลปีใหม่ม้ง ซึ่งบทเพลงเฆ่ง เพื่อความบรรเทิงจะมีลำดับการเป่าดังนี้ดี๋ (ntiv) โหมโรง ซุ (xub) แนะนำนู่ นตรื่อ (nuj nrws) เนื้อเรื่อง ฆัวนู่ นตรื่อ (quas nuj nrws) ทวนเนื้อเรื่อง ปลั่ว (pluas) สรุป เส่า (xaus) ลงท้าย


1.3 การเป่าขลุ่ย ขลุ่ยเป็นเครื่องดนตรีอีกประเภทหนึ่งของ ม้งที่ใช้เป่าเรียกหาคู่ และสร้างความจรรโลงใจ ซึ่งขลุ่ยม้งจะทำมาจากกระบอกไม้ไผ่ และท่อพีวีซี จะใช้เป่าแทนความรู้สึกของสภาพจิตใจของผู้นั้นจะเป่าในวันสำคัญ เช่นงานปีใหม่และงานสำคัญอื่น ๆ


2. เครื่องดนตรีประเภทตี กลอง หรือ จั๊ว เป็นเครื่องดนตรีของม้งที่มีลักษณะเป็นกลองสองหน้า หรือหนึ่งหน้าก็ได้ รูปร่างกลมแบน โดยใช้แผ่นผนังสัตว์สองแผ่นมาประกอบ เข้ากับโครงกลองหลอมตัวกลอง ทั้งสองด้านริมขอบของแผ่นผนังทั้งสองแผ่นจะเจาะรูเป็นคู่ ๆ สำหรับเสียบสลักไม้เล็ก ๆ เพื่อใช้เชือกร้อยสลักไม้ของแผ่นผนังทั้งสองด้านดึงเข้าหากัน ซึ่งจะทำให้แผ่นผนังกลองตึงตัวเต็มที่ เมื่อตีจะมีเสียงดังกังวาน และมีไม้ตีกลองหนึ่งคู่ หรือสองอันทำจากไม้ด้านหนึ่ง จะเอาผ้าพันไว้สำหรับตีกลอง ส่วนด้านที่ไม่มีผ้าห่อใช้สำหรับจับ กลองม้งนี้จะใช้เมื่อประกอบพิธีงานศพ การปล่อยผีหรือปลดปล่อยวิญญาณ เท่านั้น


ความเชื่อ


       ม้งมีความเชื่อว่าพิธีไสยศาสตร์เหล่านี้จะช่วยให้วินิจฉัยโรคได้ถูกต้องและทำการรักษาได้ผล เพราะความเจ็บป่วย ทั้งหลาย ล้วนแต่เป็นผลมาจากการผิดผี ทำให้ผีเดือดดาลมาแก้แค้นลงโทษให้เจ็บป่วย จึงต้องใช้วิธีจัดการกับผีให้คนไข้หายจากโรค หากว่าคนทรงเจ้ารายงานว่าคนไข้ที่ล้มป่วยเพราะขวัญหนี ก็จะต้องทำพิธีเรียกขวัญกลับเข้าสู่ร่างของบุคคลนั้น แต่การที่จะเรียกขวัญกลับมานั้น จะต้องมีพิธีกรรมในการปฎิบัติมากมาย บางครั้งบางพิธีกรรมก็มีความยุ่งยากในการปฎิบัติ แต่ม้งก็ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคเหล่านั้น ม้งเชื่อว่าการที่มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง โดยไม่มีโรคภัยมาเบียดเบียน นั่นคือความสุขอันยิ่งใหญ่ของม้ง ฉะนั้นม้งจึงต้องทำทุกอย่างเพื่อเป็นการรักษาให้หาย จากโรคเหล่านั้น ซึ่งพิธีกรรมในการรักษาโรคของม้งนั้นมีอยู่หลายแบบ ซึ่งแต่ละแบบก็รักษาโรคแต่ละโรค แตกต่างกันออกไป การที่จะทำพิธีกรรมการรักษาได้นั้นต้องดูอาการของผู้ป่วยว่าอาการเป็นเช่นไร แล้วจึงจะเลือกวิธีการรักษาโดยวิธีใดถึงจะถูกต้อง


1. การทำผี หรือการลงผี (การอั๊วเน้ง) เป็นการรักษาอีกประเภทหนึ่งของม้ง การอั๊วเน้ง (การทำผีหรือลงผี ) การอั๊วเน้งนั้นมีอยู่ 3 ประเภท คือ การอั๊วเน้งข่อยชั๊วะ การอั๊วเน้งเกร่ทั่ง การอั๊วเน้งไซใย่ ซึ่งการอั๊วเน้งแตกต่างกันออกไป การรักษาก็แตกต่างกันไปด้วย การจะอั๊วเน้งได้เมื่อมีคนในครอบครัวเจ็บป่วยโดยไม่รู้สาเหตุเป็น การรักษาอีกประเภทหนึ่ง ดังนั้นม้งมักจะนิยมอั๊วเน้งเพื่อการเรียก ขวัญที่หายไปหรือมีผีพาไปให้กลับคืนมาเท่านั้น ซึ่งม้งเชื่อว่าการเจ็บป่วยเกิดจากขวัญที่อยู่ในตัวหายไป มีวิธีการรักษาดังนี้ เวลาอั๊วเน้งหรือทำผีนั้น คนที่เป็นพ่อหมอจะเริ่มไปนั่งบนเก้าอี้ แล้วร่ายเวทมนต์คาถาต่าง ๆ พร้อมกับติดต่อ สื่อสารกับผีแล้วไปคลี่คลายเรื่องราวต่าง ๆ กับผี ถ้าคลี่คลายได้แล้วจะมีการฆ่าหมู แต่ก่อนจะฆ่าหมูนั้น จะต้องให้คนไข้ไปนั่งอยู่ข้างหลังพ่อหมอ แล้วผูกข้อมือ จากนั้นนำหมูมาไว้ข้างหลังคนไข้ แล้วพ่อหมอจะสั่งให้ฆ่าหมู การที่จะฆ่าหมูได้นั้นจะต้องมีคนหนึ่งซึ่งเป็นตัวแทนของพ่อหมอ และสามารถฟังเรื่องราวของการอั๊วเน้งได้ รู้ว่าตอนนี้พ่อหมอต้องการอะไร หรือสั่งให้ทำอะไร เมื่อพ่อหมอสั่งลงมา คนที่เป็นตัวแทนต้องบอกกับคนในครอบครัว ให้ทำตามคำบอกกล่าวของพ่อหมอ เมื่อสั่งให้ห่าหมูก็ต้องนำหมูมาฆ่าแล้วจะนำกัวะมาจุมกับเลือดหมู พร้อมกับมาปะที่หลังคนไข้ แล้วพ่อ หมอจะเป่าเวทมนต์ให้ จากนั้นจะนำกัวะไปจุมเลือดหมู เพื่อไปเซ่นไหว้ที่ผนังที่เป็นที่รวมของของบูชาเหล่านั้น


2.การรักษาคนตกใจ (การไซ่เจง) เป็นการรักษาอีกประเภทหนึ่งของม้ง การไซ่เจงจะกระทำเมื่อมีคนป่วยที่ตัวเย็น เท้าเย็น ใบหูเย็น มือเย็น ซึ่งม้งเชื่อว่าการที่เท้าเย็น มือเย็น หรือตัวเย็น เกิดจากขวัญในตัวคนได้หล่นหายไป หรือไปทำให้ผีกลัว แล้วผีก็แกล้งทำให้บุคคลนั้นไม่สบาย มีวิธีการรักษาดังนี้ พ่อหมอจะนำเอาขิงมานวดตามเส้นประสาท ได้แก่ บริเวณปลายจมูกตรงไปที่หน้าผาก นวดแล้วย้อนกลับไปที่ใบหู แล้ว นวดบริเวณหน้าผากไปที่ใบหูซ้ำ 3 ครั้ง จากนั้นเปลี่ยนเป็นการนวดที่เส้นประสาทมือ คือจะนวดที่ ปลายนิ้วมือไล่ไปที่ข้อมือทำซ้ำทุกนิ้วมือ แล้วรวมกันที่ข้อมือนวด และหมุนรอบที่ข้อมือ ซึ่งขณะนวดต้องเป่าคาถาด้วย และบริเวณฝ่าเท้าให้นวดเหมือนกัน ต้องทำซ้ำกัน 3 ครั้ง ซึ่งการรักษาไซ่เจงนี้จะทำการรักษา 3 วัน เมื่อเสร็จจากการรักษาแล้ว ถ้าอาการไม่ดีขึ้นก็หาวิธีอื่น ๆ มารักษาต่อ เช่น อั๊วเน้งหรือการฮูปรี เป็นต้น


3. การรักษาด้วยการเป่าด้วยน้ำ (การเช้อแด้ะ) เป็นการรักษาอีกประเภทหนึ่งของม้ง การเช้อแด้ะจะเป็นการกระทำเมื่อมีคนในครอบครัวที่ป่วยร้องไห้ไม่หยุด และตกใจมากเป็นพิเศษ โดยไม่รู้สาเหตุ หรือเหมือนว่าคนป่วยเห็นอะไรสักอย่างที่ทำให้เขากลัวมากมีวิธีการรักษาดังนี้ คนที่เป็นพ่อหมอหรือแม่หมอ จะให้คนป่วยอาการดังกล่าวไปนั่งใกล้กับกองไฟหรือเตาไฟ แล้วเอาถ้วยหนึ่งใบ ใส่น้ำให้เรียบร้อยมาตั้งไว้ข้าง ๆ พ่อหมอหรือแม่หมอ คือ ผู้ที่จะทำการรักษาจะใช้ตะเกียบคู่หนึ่งหนีบก้อนถ่าน ที่กำลังรุกไหม้เป็นสีแดงขึ้นมา แล้วเป่าก้อนถ่าน จากนั้นเริ่มท่องคาถา แล้วนำก้อนถ่านก้อนนั้นไปวนบนหัวของคนป่วย ขณะวนนั้นก็สวดคาถาด้วย เมื่อวนเสร็จก็จะเอาก้อนถ่านก้อนนั้นไปใส่ในถ้วยที่เตรียมไว้ พร้อมกับปิดฝาด้วย ให้ทำซ้ำกันแบบนี้สามรอบเมื่อเสร็จแล้วจับมือคนป่วยขึ้นมาเป่าพร้อมท่องคาถา เมื่อเสร็จสิ้นแล้ว จะเอามือชุบน้ำที่อยู่ในถ้วยขึ้นมาลูบหน้าของคนป่วย หรือลูบแขนคนป่วย เมื่อทำเสร็จแล้วอาการของคนป่วยจะทุเลาลง ม้งจะนำวิธีรักษานี้มาใช้ในการรักษาคนไข้ที่ตกใจมาก และปัจจุบันนี้ม้งก็ยังคงยึดถือ และปฏิบัติกันอยู่ แต่ก็มีบ้างที่อาการหนักมากจนไม่สามารถที่จะรักษาให้หายขาดได้ แล้วจึงจะนำไปรักษาที่โรงพยาบาลต่อไป


5. การปัดกวาดสิ่งที่ไม่ดีออกไป (การหรือซู้ ) เป็นการรักษาอีกวิธีหนึ่งของม้งที่จะปฏิบัติในช่วงขึ้นปีใหม่เท่านั้น คือในหนึ่งรอบปีที่ผ่านมาครอบครัวจะเจอสิ่งที่ไม่ดี ดังนั้นจึงมีการหรือซู้เพื่อ ปัดเป่า หรือกวาดสิ่งที่ไม่ดีให้ออกไปจากบ้าน และตัวบุคคล หรือเป็นการปัดเป่า กวาดโรคภัยไข้เจ็บออกจากตัวบุคคล หรือออกจากบ้านให้หมด เพื่อที่จะรับ ปีใหม่ที่เข้ามา และต้อนรับสิ่งดี ๆ ที่กำลังจะมาในปีถัดไป พิธีกรรมนี้ม้งจะทำทุกปี และคนในครอบครัวต้องอยู่ให้ครบทุกคน ไม่ให้ขาดคนใดคนหนึ่ง (แต่หากว่าคนในครอบครัวนั้น เกิดไปทำงานต่างจังหวัดและไม่สามารถที่จะกลับมาร่วมพิธีกรรมนี้ได้ ผู้ปกครองของครอบครัวต้องนำเสื้อผ้าของคน ที่ไม่อยู่มาร่วมพิธีกรรมให้ได้ หากไม่ได้เข้าร่วมพิธีกรรมนี้ ม้งเชื่อว่า สิ่งที่ไม่ดีจะติดตัวไปยังปีถัด ๆ ไป และทำอะไรก็ไม่เจริญ )6.หมูประตูผี (อัวะบั๊วจ๋อง ) เป็นพิธีกรรมที่ม้งกระทำเพื่อรักษาคนทั้งหมดในบ้านหลังนั้นให้ปราศจากโรคภัยโดยมีวิธีการรักษา ดังนี้ ซึ่งการประกอบพิธีกรรมหมูประตูนั้นจะทำในตอนกลางคืนเท่านั้น อันดับแรกคือจะมีการกล่าวปิด และกล่าวเปิดประตู จากนั้นจะมีการฆ่าหมูแล้วต้มให้สุก จากนั้นก็กล่าวปิดประตู แล้วนำ หมูที่ต้มสุกนั้นมาหั่นให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ จัดไว้ตามจานที่วางไว้ 9 จาน ซึ่งแต่ละจานจะใส่ชิ้นเนื้อไม่เหมือนกัน โดยจานที่ 1 ใส่มือซ้ายหมูและหัวข้างซ้าย จานที่ 2 จะใส่ขาขวาหมูกับหัวข้างขวา จานที่ 3 จะใส่ขาซ้ายหมูกับคางซ้ายหม จานที่ 4 ใส่มือขวาหมูกับคางขวาหมู จานที่ 5 ใส่มือซ้ายหมู จานที่ 6 ใส่ขาขวาหมู จานที่ 7 ใส่ขาขวาหมูกับใบหู 5 ชิ้น จานที่ 8 ใส่มือขวาหมู จานที่ 9 ใส่จมูกและหางหมู


ภาษา


        ภาษาม้งก็นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งภาษาในประเทศไทย แต่ภาษาม้งเป็นภาษาที่ใช้ได้ในกลุ่มคนบางกลุ่มคนเท่านั้น เนื่องจากว่า ภาษาม้งจะใช้ได้เฉพาะคนที่เป็นม้งเป็นส่วนใหญ่ และนับวันลูกหลานม้งเริ่มที่จะเห็นคุณค่าของภาษานี้น้อยลงเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสังคมเปลี่ยนไป ทำให้ม้งไม่ค่อยได้ใช้ภาษาของตัวเองแต่จะใช้ภาษากลางเป็นหลัก ซึ่งหากว่า เป็นเช่นนี้ อีก 10 ปีข้างหน้า เยาวชนม้งรุ่นต่อไปจะไม่สามารถสื่อสารด้วยภาษาของตัวเองได้และไม่สามารถที่จะเขียนได้ ดังนั้นทางทีมงานของเราจึงได้ไปค้นคว้าหาความรู้ต่างๆ เพื่อที่จะได้นำมาเสนอใว้ในเวบไซด์นี้ และเพื่อที่จะได้เผยแพร่เป็น องค์กรความรู้แด่เยาวชนม้งที่มีความสนใจในด้านภาษาและหัดเขียน พูดได้ถูกต้อง


Nyob zoo แปลว่า สวัสดี ขยายความ ประโยคนี้จะใช้เมื่อพบกันทักทายกัน


kuv hlub koj แปลว่า ฉันรักเธอขยายความ ประโยคนี้ ใช้เมื่อเราต้องการบอกความในใจ แก่คนที่เรารัก


Thov kom tau koob hmoov zoo แปลว่า ขอให้โชดดีขยายความ ประโยคอวยพรให้ผู้ที่กำลังจะจากกันไป


Thov txim แปลว่า ขอโทษ ขยายความ ประโยคนี้ เป็นการขอโทษสิ่งที่ทำไปหากไม่ ถูกต้อง


Kuv lub npe hu hais tias yiv แปลว่า ฉันชื่อ...หยี


Thaum twg แปลว่า เมื่อไรขยายความ ประโยคนี้จะใช้เมื่อต้องการถามเวลาไหน


Qhov twg แปลว่า ที่ไหน ขยายความ ประโยคถามสถานที่


Hnub no แปลว่า วันนี้ขยายความ ประโยคนี้จะใช้เมื่อคนสองคนพูดถึงวันนี้นะ


Nej tuaj qhov twg tuaj แปลว่า คุณมาจากที่ไหน ขยายความ ประโยคถามคนที่ไม่รู้จักกันมาก่อน


Zoo siab tau sib ntsib แปลว่า ยินดีที่ได้พบกันขยายความ ประโยคนี้จะใช้เมื่อคนสองคนพึ่งรู้จักกัน


Haus dej แปลว่า ดื่มน้ำขยายความ ประโยคบอกให้อีกคนดื่มน้ำ


Thov nej pab kuv thiab แปลว่า โปรดช่วยฉันด้วยขยายความ ประโยคนี้จะใช้เมื่อต้องการขอความช่วยเหลือ


Noj mov แปลว่า กินข้าว หรือ ทานข้าวขยายความ ประโยคบอกให้กินข้าว


Ua tsaug ntau แปลว่า ขอบคุณมากขยายความ ใช้สำหรับขอบคุณ


Tsaus ntuj แปลว่า ตอนเย็นขยายความ ประโยคนี้เป็นการบอกว่า มืดแล้ว


Npaum li cas แปลว่า ราคาเท่าไรขยายความ ประโยคนี้เป็นการถามราคาสินค้าที่จะซื้อ


ม้งในปัจจุบัน


        ชาวม้งในปัจจุบันนั้นได้ละทิ้งความเป็นเอกลักษณ์ตัวตนของตัวเองกันเกือบสูญสิ้น เพราะปัจจุบันด้วยสภาพทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ทำให้ชาวม้งโดยส่วนใหญ่ส่งลูกหลานมาเรียนหนังสือกันเพียงเพื่อว่าลูกหลานนั้นจะกลับไปพัฒนาบ้านของตนเอง แต่แท้จริงแล้วลูกหลานชาวม้งก็มิได้กล้บไปพัฒนาเมื่อมีความรู้ แต่กลับอยู่ในเมืองหลวงทำงานรับจ้างไปวันๆ ไม่สนใจว่าผู้ที่รอคอยนั้นจะอยู่กินอย่างไร ในฐานะเป็นลูกหลานของชาวม้งคนหนึ่งจึงอยากขอร้องว่าเราที่เป็นลูกหลานของชาวม้งทั้งหลายเมื่อมีความรู้แล้วควรกลับไปพัฒนาหมู่บ้านให้มีความเจริญรุ่งเรืองให้สมกับความรู้ที่ได้มาเรียน จะได้ชื่อว่าม้งไม่ใช่ชนเผ่าเล็กๆ ที่อาศัยอยู่ตามชายแดนอีกต่อไป และประกาศให้โลกนี้รู้ว่าชาวม้งนั้นก็เป็นบุคคลคนหนึ่งที่มีจิตใจ เลือดเนื้อ และมีความรู้และยังรักประเทศชาติไม่แพ้ไปกว่าบุคคลอื่นๆ ถึงแม้ว่าจะได้ชื่อว่าม้งก็ตาม












                                               
เด็กๆ ม้งน่ารัก..                                                                        การเป่าแคน...


 
 





                                     ซื้อของหน่อย..


การประกวดธิดาดอย...                                                     


                                                                        





ยายปัดผ้า....














                                                                         ภาพการ์ตูนสวยๆ...













  สาวม้งงามก้อเจ้า...












 บ้านพักบรรยายกาศดีๆ..มีที่นี่ที่เดียว..บ้านม้งไง...


















งานแสดงก็มีนะ..สวยๆ..หลอกๆ..ทั้งนั้น..









จากใจผู้เขียน ลูกหลานชาวม้งที่อาศัยอยู่ในเมืองหลวง....(เมฆสายรุ้ง)

ขอขอบคุณแหล่งข้มมูล : www.hilltribe.org

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น